สายสีน้ำเงิน

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) เป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม โดยมี บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้า มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรของกรุงเทพมหานคร โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เปิดให้บริการช่วงแรกคือ ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ และต่อมาได้เปิดส่วนต่อขยายช่วงหัวโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เพื่อให้การเดินทางต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น 
 
โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ช่วงหัวลำโพง - บางซื่อ
เป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2542 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อว่า “ เฉลิมรัชมงคล” อันมีความหมายว่า งานเฉลิมฉลองความเป็นมงคลแห่งความเป็นพระราชา และ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม 2547 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จไปทรงกดปุ่มระบบคอมพิวเตอร์เปิดการเดินรถไฟฟ้าสายนี้ด้วยพระองค์เอง ณ อาคารศูนย์ควบคุมการเดินรถพระราม 9 ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จด้วย

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยายช่วงหัวโพง-บางแคและช่วงบางซื่อ-ท่าพระ 
เป็นโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เชื่อมต่อใต้ดินจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิม และสถานียกระดับ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตในการใช้ชื่อเส้นทางส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ว่า “เฉลิมรัชมงคล” เป็นการรวมสายสีน้ำเงินทั้งสายเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและเพื่อให้การเดินทางต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ณ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย เขตพระนคร – สถานีรถไฟฟ้าหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพมหานคร


บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้รับสัมปทานลงทุนค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้ารวมทั้งให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตามมาตรฐานการให้บริการที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน โดยโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือสายสีน้ำเงิน มีระยะทางรวม 48 กม. 38 สถานี ประกอบไปด้วย

ช่วงหัวลำโพง - บางซื่อ ระยะทาง 20 กม. มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 18 สถานี ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทย
ช่วงหัวลำโพง – บางแค ระยะทางประมาณ 16 กม. มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 11 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบผสมทั้งใต้ดินและยกระดับ
ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ระยะทางประมาณ 12 กม. มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 9 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับตลอดสาย

ระบบรถไฟฟ้า

รถไฟฟ้าที่นำมาให้บริการเป็นรถขนาดใหญ่ ปรับอากาศ ขนาดกว้าง 3.12 เมตร ยาว 21.5 – 21.8 เมตร สูงประมาณ 3.8 เมตร ใช้ไฟฟ้า 750 โวลต์ กระแสตรงป้อนระบบขับเคลื่อนรถ
ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับขับเคลื่อนตัวรถ ควบคุมการเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุม

อัตราขนส่งผู้โดยสาร

ในปัจจุบัน มีรถไฟฟ้าภายในระบบทั้งหมด 54 ขบวน แบ่งเป็นรถไฟฟ้ารุ่นแรก 19 ขบวน และรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ 35 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ 
รถไฟฟ้า 1 ขบวน ประกอบด้วย 3 ตู้ 
รถไฟฟ้ารุ่นแรก ใน 1 ขบวน (3 ตู้) บรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 886 คน
รถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ใน 1 ขบวน (3ตู้) บรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 1,129 คน

ความเร็วรถ

รถไฟฟ้ามีอัตราความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. แต่ในการเดินรถจะใช้อัตราความเร็วเฉลี่ย 35 กม./ชม.

สถานี

โครงสร้าง 3 ชั้น ประกอบด้วย
ชั้นที่ 1 ชั้นระดับถนน (Ground Level)
เป็นทางเข้า-ออก ของสถานี โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ลิฟต์โดยสาร บันไดเลื่อน และทางลาด
ชั้นที่ 2 ชั้นออกบัตรโดรสาร (Concourse Level)
ประกอบด้วยห้องออกบัตรโดยสาร เครื่องออกเหรียญโดยสารอัตโนมัติ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ อาทิ ลิฟต์ ห้องน้ำ และที่จำหน่ายตั๋ว โดยบางสถานีสามารถเชื่อมต่อไปยัง
อาคารข้างเคียงและอาคารจอดแล้วจรของโครงการได้
ชั้นที่ 3 ชั้นชานชาลา (Platform Level)
เป็นชั้นสำหรับจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร มีประตูอัตโนมัติกั้นที่ชานชาลา เพื่อป้องกันผู้โดยสารพลัดตกลงรางรถไฟฟ้าบันไดเลื่อน และบันไดสำหรับหนีภัยในกรณีฉุกเฉิน และลิฟต์สำหรับผู้พิการ

BANGKOK MRT

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน

ตอบรับไลฟ์สไตล์คนเมืองด้วยแอปพลิเคชัน Bangkok MRT ทำให้วางแผนการเดินทางเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้วสำหรับคุณ มีครบทั้งข้อมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง เช่น แผนที่เส้นทางรถไฟฟ้า แผนผังบริเวณสถานี สิ่งอำนวยความสะดวก ข่าวสารและกิจกรรม พร้อมทั้งฟังก์ชันต่างๆ ให้คุณเลือกใช้อีกเพียบ...

เกร็ดความรู้ด้านความปลอดภัย ข้อระวังในการใช้บันไดเลื่อน

ไม่นั่ง เดิน หรือวิ่ง ในขณะอยู่บนบันไดเลื่อน

เราใช้คุ้กกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ bemplc.co.th ของท่านที่ดีกว่าเดิม ในการใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าท่านยอมรับการใช้คุ้กกี้ตามที่ระบุใน นโยบายคุ้กกี้